นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) มั่นใจว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ

คณะกรรมการบริษัทจึงได้พิจารณาจัดทำนโยบายเกี่ยวกับจรรยาบรรณธุรกิจ ตลอดจนจริยธรรมในการประกอบธุรกิจของคณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายจัดการ และพนักงาน ตามระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมทั้งจัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนมาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยสรุปสาระสำคัญการดำเนินการด้านการกำกับดูแลกิจการได้ดังนี้

นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี Corporate Governance Policy

1. ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน

หลักปฏิบัติ 1.1

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาท และความรับผิดชอบของกรรมการในฐานะผู้นำที่มีหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้องค์กรมีการบริหารจัดการที่ดี จึงได้มีการกำหนดอำนาจและความรับผิดชอบของกรรมการไว้เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมถึง การกำหนดวัตถุประสงค์ แผนกลยุทธ์ นโนบายการดำเนินงาน รวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากรสำคัญของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตรงตามวัตถุประสงค์ และบรรลุเป้าหมายโดยรวมขององค์กร ทั้งนี้ ยังมีหน้าที่คอยติดตามผลงาน เพื่อวิเคราะห์ประเมินผลจากกรายงานผลการดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ และคอยควบคุมดูแลให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบของบริษัทฯ รวมถึงไม่ขัดต่อกฎหมาย

หลักปฏิบัติ 1.2

คณะกรรมการของบริษัท ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อนำไปสู่ Governance Outcome มุ่งเน้นแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้องค์กรเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ มีการจัดทำ Code of Conduct เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทควรดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกบริษัทฯ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว การมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนธุรกิจและปรับตัวได้ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และการกำกับให้บริษัทฯ ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิ มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียและผู้ถือหุ้น

หลักปฏิบัติ 1.3

บริษัทฯ มีการพิจารณากำหนดให้คณะกรรมการ รวมถึงหน่วยงานตรวจสอบภายในทำงานร่วมกัน ในการกำกับดูแลให้การดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เช่น ข้อบังคับบริษัทฯ มติคณะกรรมการ หรือมติที่ประชุมผุ้ถือหุ้น รวมถึงมีการกำหนดให้พนักงานทุกคนของบริษัทฯ ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความระมัดระวัง มีความซื่อสัตย์สุจริต และดำเนินงานตามขั้นตอนกระบวนการอนุมัติการดำเนินงานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เช่น การลงทุน การทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน การจ่ายเงินปันผล หรือการทำธุรกรรมที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น โดยให้คำนึงผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียเป็นที่ตั้ง

หลักปฏิบัติ 1.4

เพื่อให้คณะกรรมการเข้าใจในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง จึงได้มีการจัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการ หรือนโยบายกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ และระบุความรับผิดชอบของกรรมการ และกรรมการผู้จัดการไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ทั้งนี้คณะกรรมการมีหน้าที่ติดตามและดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามที่ได้รับมอบหมายไว้ โดยบริษัทฯ กำหนดให้มีการทบทวนกฎบัตรกรรมการเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเป็นการปรับให้มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทฯ

2. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน

หลักปฏิบัติ 2.1

คณะกรรมการได้มีการกำกับดูแล หรือร่วมกำหนดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลักของบริษัทฯ ได้แก่ วิสัยทัศน์ พันธกิจ รวมถึงนโยบายต่างๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับประเภทการดำเนินงานของบริษัทฯ ประกอบกับมีการพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ปัจจัยจากสภาพแวดล้อมการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงอันเกิดการการพัฒนาของเทคโนโลยี ส่งเสริมให้บริษัทฯ มีการพัฒนาโดยการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้อย่างเหมาะสม ให้เกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่ความชำนาญเพื่อสร้างคุณค่า ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสีย และสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กรสะท้อนอยู่ในการตัดสินใจและการดำเนินงานของบุคลากรในทุกระดับ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

หลักปฏิบัติ 2.2

บริษัทฯ มีการพิจารณากำหนดกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานประจำปี โดยได้มีการวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งคณะกรรมการมีหน้าที่ในการกำกับดูแล ติดตามผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัทฯ และควบคุมการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดตามความเหมาะสม โดยให้มีการคำนึงถึงการจัดสรรทรัพยากร ปัจจัยแวดล้อม หรือความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายหลักของบริษัทฯ รวมถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

3. เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล

หลักปฏิบัติ 3.1

คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทความรับผิดชอบในการกำหนด รวมถึงทบทวนโครงสร้างคณะกรรมการ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมเรื่ององค์ประกอบ สัดส่วนกรรมการอิสระ คุณสมบัติของคณะกรรมการที่มีความหลากหลายด้านประสบการณ์ ทักษะองค์ความรู้ ความสามารถเฉพาะทางที่เพียงพอ และเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความเหมาะสมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์หลัก และจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลองค์ประกอบของคณะกรรมการในรายงานประจำปี และเว็บไซต์ของบริษัทฯ เช่น อายุ ประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ รวมถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่น เป็นต้น คณะกรรมการมีการพิจารณาถึงโครงสร้างจำนวนกรรมการที่เหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย จำนวนกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน และไม่เกิน 12 คน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 2 ของกรรมการทั้งคณะ ทั้งนี้ บริษัทฯ สามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของขนาด และความซับซ้อนของธุรกิจ

หลักปฏิบัติ 3.2

คณะกรรมการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท โดยบริษัทฯ ได้มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความสมดุลในอำนาจการดำเนินงาน บริษัทฯ ได้แยกตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร ไม่ให้เป็นบุคคลคนเดียวกัน โดยประธานกรรมการบริษัทเป็นกรรมการอิสระและไม่มีความสัมพันธ์ใดใดกับฝ่ายบริหาร มีความเป็นอิสระจากการควบคุมของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในทางการเงินและการบริหารกิจการ รวมถึงต้องมีคุณสมบัติเฉพาะเพิ่มเติมตามที่ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่เกี่ยวข้อง

หลักปฏิบัติ 3.3

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแล ให้กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาพิจารณาค่าตอบแทนเป็นไปอย่างโปร่งใส คัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริษัท กรรมการชุดย่อย และพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมในด้านความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพื่อนำเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการบริษัทและ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง

หลักปฏิบัติ 3.4

บริษัทฯ กำหนดให้แนวทาง โครงสร้างรูปแบบและการเสนอค่าตอบแทนคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย รวมถึงประธานกรรมการบริหาร มีการพิจารณาถึงความเหมาะสม โดยให้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ และ/หรือเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณา โดยจัดให้มีกลไกการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติ ดังนี้

3.4.1 คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน พิจารณาและสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถตรงกับความต้องการของบริษัท สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบ

3.4.2 นโยบายและหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ ถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการสรรหาพิจารณาค่าตอบแทน โดยมีหน้าที่พิจารณาค่าตอบแทนของกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย และผู้บริหารระดับสูง ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินงาน และเป้าหมายของบริษัทในระยะยาว ทั้งนี้ เหมาะสมกับ บทบาทความรับผิดชอบ ภาระหน้าที่ และประสบการณ์ ซึ่งค่าตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ที่เปรียบเทียบได้ในระดับอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียง

3.4.3 คณะกรรมการควรพิจารณาค่าตอบแทนทั้งรูปแบบที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงินอย่างเหมาะสม ชัดเจน โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ สอดคล้องกับมูลค่าที่บริษัทฯ สร้างให้กับผู้ถือหุ้น โดยให้โครงสร้างและอัตราค่าตอบแทนของกรรมการต้องผ่านการอนุมัติโดยผู้ถือหุ้น

หลักปฏิบัติ 3.5

บริษัทฯ มีนโยบายให้คณะกรรมการบริษัทพึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ จัดสรรเวลาอย่างเพียงพอ ระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต และเป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติของกรรมการบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นรวมถึงมีบทบาทในการกำกับดูแลกิจการภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน อันนำไปสู่การเจริญเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นระยะยาว โดยรับผิดชอบผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ รวมถึงเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้มีมติในการกำหนดกฎบัตรคณะกรรมการบริษัทขึ้น เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และให้มีการพิจารณาทบทวนทุกปีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อจะได้แก้ไขให้สอดคล้องกับทิศทางของบริษัท และกรรมการแต่ละคนจะต้องเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนการประชุมคณะกรรมการทั้งหมดที่จัดขึ้นในปีนั้นๆ

หลักปฏิบัติ 3.6

บริษัทฯ มีนโยบายลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ที่ดำเนินธุรกิจในกลุ่มงานชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มธุรกิจรับจ้างประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของบริษัทฯ เป็นหลัก เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตตอบสนองการขยายงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทในระยะยาว ตลอดจนพิจารณาสิทธิประโยชน์จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เป็นปัจจัยสำคัญร่วมด้วย ทั้งนี้ บริษัทย่อย และ/หรือบริษัทร่วม อาจพิจารณาลงทุนในธุรกิจอื่นเพิ่มเติมหากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตหรือสามารถต่อยอดทางธุรกิจ หรือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนแก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นโดยรวม

หลักปฏิบัติ 3.7

บริษัทฯ จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการทุกปี โดยเป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการทั้งคณะและรายบุคคล ทั้งนี้ ผลคะแนนและข้อคิดเห็นของกรรมการจะนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในแต่ละปี และเพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการมีประสิทธิผลมากขึ้น รวมถึงกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการส่งเสริมธรรมมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

หลักปฏิบัติ 3.8

บริษัทฯ มีการส่งข้อมูลบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย ให้คณะกรรมการทุกท่านได้รับทราบ ซึ่งรวมถึงข้อมูลลักษณะธุรกิจ แผนงานในการประกอบธุรกิจ กฎระเบียบต่าง ๆ ของบริษัทฯ รวมถึงมีการแจ้งข่าวสาร ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย และกฎเกณฑ์ใหม่ที่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการให้ได้รับทราบอยู่เสมอ ตลอดจนสนับสนุนให้คณะกรรมการเข้ารับการอบรม การเสริมสร้างทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสม และจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลการฝึกอบรมของคณะกรรมการทุกคนในรายงานประจำปี

หลักปฏิบัติ 3.9

คณะกรรมการบริษัทจะกำหนดการประชุมไว้ล่วงหน้าอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้งต่อปีและอาจมีการประชุมพิเศษเพิ่มเติมตามความจำเป็น ในการเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท ให้ประธานกรรมการ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายส่งหนังสือนัดประชุมโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือส่งมอบให้แก่กรรมการโดยตรง หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยระบุวัน เวลา สถานที่ และกิจการที่จะประชุมไปยังกรรมการ ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทฯ รวมทั้งมอบหมายให้เลขานุการบริษัทมีหน้าที่จัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการให้มีสาระสำคัญครบถ้วน รวมถึงทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของคณะกรรมการบริษัท และเพื่อช่วยให้คณะกรรมการบริษัทและบริษัทฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่กำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ

4. สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร

หลักปฏิบัติ 4.1

บริษัทฯ จะกำหนดคุณสมบัติ อำนาจ หน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงไว้อย่างชัดเจน และในการพิจารณาหลักเกณฑ์ และวิธีการในการสรรหาและแต่งตั้งบุคคล หรือเห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอให้เป็นผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะนำเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการบริษัทและ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งขึ้น โดยทำการคัดเลือกบุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว และพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถรองรับตำแหน่งได้ในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ผู้ถือหุ้น ตลอดจนพนักงานว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะได้รับการสานต่ออย่างทันท่วงที

หลักปฏิบัติ 4.2

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้มีการกำหนดกรอบนโยบาย และโครงสร้างค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนนำเสนอ เพื่อจูงใจให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร และสอดคล้องกับผลประโยชน์ของกิจการในระยะยาว ทั้งนี้ มีการคำนึงถึงระดับค่าตอบแทนโดยเทียบเท่ากับระดับอุตสาหกรรมที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน

หลักปฏิบัติ 4.3

คณะกรรมการมีความเข้าใจในโครงสร้างและความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้น และช่วยกำกับดูแลไม่ให้เกิดเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของคณะกรรมการ และผู้บริหารระดับสูง รวมถึงดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง

หลักปฏิบัติ 4.4

คณะกรรมการบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคลที่ถือว่าสำคัญที่สุดในการร่วมดำเนินธุรกิจ ที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ บริษัทฯ จึงกำหนดนโยบายบริหารและพัฒนาบุคลากรโดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ และให้ความรู้แก่พนักงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกด้านของพนักงานในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลให้เกิดแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มคุณค่าเชิงนวัตกรรมให้แก่บริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัท

5. ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

หลักปฏิบัติ 5.1

คณะกรรมการบริษัทจะสนับสนุนให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมทั้งในระดับกระบวนการทำงานภายในองค์กร และในระดับความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน บริษัทฯ มีความตั้งใจส่งเสริมการริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกระบวนการใหม่ ๆ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเพื่อเพิ่มมูลค่า การเปลี่ยนแปลงทางการกระทำในเชิงบวกเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับองค์กรหรือผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทฯ ยังเห็นถึงความสำคัญของการเผยแพร่นวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม โดยจัดให้มีการสื่อสารและเผยแพร่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลข่าวสารของบริษัทฯ เข้าถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ ได้อย่างทั่วถึง เพื่อการต่อยอดในอนาคตสู่สังคมที่กว้างขึ้น

หลักปฏิบัติ 5.2

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายใน หรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและการร่วมมือกันระหว่างบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสีย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ในระยะยาว บริษัทฯ จึงได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้

ผู้ถือหุ้น

1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และอย่างสุดความสามารถ และดำเนินการใด ๆ ด้วยความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย

2. รายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงสถานการณ์ขององค์กรโดยสม่ำเสมอ และครบถ้วนตามความเป็นจริง

3. รายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงแนวโน้มในอนาคตขององค์กร ทั้งในด้านบวกและลบ ด้วยเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอ

4. ให้ความสำคัญสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้นดังนี้

4.1 สิทธิการซื้อขายหรือโอนหุ้น

4.2 สิทธิการมีส่วนแบ่งในกำไรของกิจการ

4.3 สิทธิการได้รับข่าวสาร ข้อมูลของกิจการอย่างเพียงพอ

4.4 สิทธิการเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และเรื่องที่มีผลกระทบต่อบริษัท

4.5 สิทธิการรับทราบกฎเกณฑ์และวิธีการในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น

4.6 สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและซักถามในการประชุมผู้ถือหุ้น

พนักงาน

1. มีการให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้น เละระยะยาว ดังนี้

รถรับส่งพนักงานให้ครอบคลุมพื้นที่พักอาศัยของพนักงาน สวัสดิการมงคลสมรสสำหรับพนักงานทุกระดับ
โรงอาหารที่ถูกสุขลักษณะในราคาที่เหมาะสมจำหน่ายที่บริษัทฯ สวัสดิการคลอดบุตรสำหรับพนักงานทุกระดับ
เงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร สวัสดิการเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตของพนักงาน
ทุนการศึกษา (เรียนต่อ) ในระดับต่าง ๆ ในสถาบันของรัฐบาล สวัสดิการครอบครัวเสียชีวิตสำหรับพนักงานทุกระดับ
สวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้พนักงานมีเงินเก็บเงินออม สวัสดิการค่าเช่าที่พักอาศัย
จัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน สวัสดิการโครงการร่วมทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
โบนัสประจำปี  

ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน

การแต่งตั้ง และโยกย้ายพนักงาน รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษ ต้องกระทำด้วยความสุจริต และตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมของพนักงาน

ให้ความสำคัญต่อความสามารถ และทักษะของพนักงาน โดยให้โอกาสอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ

ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด

บริษัทเปิดช่องทางให้พนักงานได้ร้องเรียนเรื่องที่อาจเป็นการกระทำผิด และได้กำหนดแนวทางในการปกป้องพนักงานหรือผู้แจ้งเบาะแสในการกระทำผิด

เจ้าหนี้

1. ปฏิบัติต่อเจ้าหนี้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย

2. ปฏิบัติตามสัญญา หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ต้องรีบแจ้งให้คู่ค้า และ/ หรือเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไข

3. ในการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ พึงละเว้นการเรียก รับ หรือจ้างผลประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่สุจริตในการค้า

4. หากมีข้อมูลว่ามีการเรียก รับ หรือจ้างผลประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น พึงเปิดเผยรายละเอียดต่อเจ้าหนี้ และร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยยุติธรรมและรวดเร็ว

5. รายงานข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงเวลาให้กับเจ้าหนี้อย่างสม่ำเสมอ

ลูกค้า

1. ปฏิบัติกับคู่ค้าซึ่งถือเป็นหุ้นส่วนและปัจจัยแห่งความสำเร็จทางธุรกิจที่สำคัญด้วยความเสมอภาค และคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน

2. คัดเลือกคู่ค้าเป็นไปอย่างโปร่งใส มีระบบ และมีมาตรฐาน มีการพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพที่ ยั่งยืนกับคู่ค้าและคู่สัญญา

3. มีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน

4. ปฏิบัติตามนโยบายการปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเคร่งครัด โดยมีการคัดเลือกคู่ค้าที่มีมาตรฐาน มีการเปรียบเทียบราคาก่อนการสั่งซื้อ มีการประเมินคู่ค้าโดยใช้เกณฑ์ที่มีมาตรฐานสากล

คู่แข่งทางการค้า

1. บริษัทฯ ส่งเสริมนโยบายการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี และเป็นธรรม

2. ประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี

3. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่ค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม เช่น การจ่ายสินจ้างให้แก่กรรมการและพนักงานของคู่แข่ง เป็นต้น

4. ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่ง ด้วยการกล่าวหาในทางร้าย

ชุมชนและสังคม

บริษัทฯ มีแนวทางที่จะปฏิบัติหรือควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุนและอาสาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตลอดจนการฟื้นฟูสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้บริษัทฯ ยังจัดให้มีช่องทางสำหรับให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทฯ และร้องเรียน กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของของบริษัทโดยผ่านช่องทางที่ระบุไว้ในนโยบายรับข้อร้องเรียน และการแจ้งเบาะแส การทุจริตคอร์รัปชั่น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น การบริจาคหน้ากากอนามัย และน้ำดื่มที่บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตให้กับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดที่ตั้งบริษัทฯ และจังหวัดข้างเคียง โครงการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน และนักศึกษาทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่ต้องการ ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

สิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจโดยการคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยึดแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ ได้จัดให้มีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้

  1. กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกินกว่ามาตรฐานกำหนด รับผิดชอบและยึดมั่นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างสมดุล
  2. ดำเนินกิจกรรมเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งที่ดำเนินการเอง ร่วมมือกับรัฐ และชุมชน ตลอดจนเคารพขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นบริเวณที่องค์กรจัดตั้งอยู่
  3. ประเมินความเสี่ยง และกำหนดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุและควบคุม การปล่อยของเสียให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตามมาตรฐาน รวมถึงมีนโยบายและมาตรการลดการเกิดของเสีย และจัดให้มีการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการที่เหมาะสม
  4. ตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อันเนื่องมาจากการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  5. ส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทฯ มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกบริษัท การใช้ทรัพยากรไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาโรงงานของบริษัท โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือ ลดปริมาณคาร์บอนลง 2,000 ตันคาร์บอน

หลักปฏิบัติ 5.3

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรและมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ กำกับ ดูแล และติดตามผลการดำเนินงาน การบริหารและการจัดการของฝ่ายบริหาร ในการจัดสรรและจัดการทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล โดยคำนึงถึงผลกระทบและการพัฒนาทรัพยากรตลอดสาย value chain เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักได้อย่างยั่งยืน

หลักปฏิบัติ 5.4

คณะกรรมการตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแล และบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจให้มีความคล่องตัว สะดวกรวดเร็ว และมีการบริหารจัดการข้อมูลที่มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงบริษัทฯ มีการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมถึงการจัดสรรทรัพยากรด้านสารสนเทศให้บุคคลในบริษัทได้มีโอกาสเข้าถึง และใช้งานภายใต้ข้อระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัย ประกอบกับมีการกำหนดให้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ต้องให้ความสำคัญในการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางเข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นการจากนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม

6. ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม

หลักปฏิบัติ 6.1

คณะกรรมการบริษัทเชื่อมั่นว่าการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ บริษัทฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกันก็ลดอุปสรรคหรือสิ่งที่ไม่คาดหวังที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในด้านผลกําไร การปฏิบัติงานและความเชื่อถือจากผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ต่อองค์กร การป้องกันความเสียหายต่อทรัพยากรขององค์กร ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบจัดการและควบคุมที่ดี เสริมสร้างความเชื่อมั่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ลงทุน พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จึงได้มีการกำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงองค์กรเพื่อเป็นแนวทางในการปฎิบัติดังนี้

1. บริษัทฯ กำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานในหน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้ดูแลความเสี่ยง โดยจะต้องมีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารความเสี่ยงขององค์กร และมีความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง

2. จัดให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนของการดำเนินงานตามหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เพื่อช่วยลดโอกาสของการเกิดความเสี่ยงและผลกระทบจากความเสี่ยง ลดความไม่แน่นอนในผลการดำเนินงานโดยรวม และเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ

3. ดำเนินการและสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงให้ประสบความสำเร็จทั่วทั้งองค์กร โดยการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ ในการบ่งชี้ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

4. ส่งเสริมและกระตุ้นให้การบริหารความเสี่ยงเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง

5. คณะกรรมการบริษัทจึงได้จัดให้มีคู่มือการบริหารความเสี่ยง สำหรับกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงองค์กร หน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยงของแต่ละส่วนงาน รวมทั้งรวบรวมตัวอย่างความเสี่ยงที่สำคัญและการจัดการของบริษัทในอดีตที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

หลักปฏิบัติ 6.2

คณะกรรมการจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นอิสระ โดยมีแนวปฎิบัติดังนี้

1. คณะกรรมการจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งจะประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวน 3 คนเป็นอย่างน้อย และจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ในการปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2. คณะกรรมการจะต้องกำหนดขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีความรับผิดชอบเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  1. ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนรายงานทางการเงินของบริษัทฯ
  2. ตรวจสอบความเหมาะสมของการตรวจสอบภายในของบริษัทฯ และกำหนดให้มีระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
  3. ตรวจสอบให้กิจการเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  4. จัดวางรูปแบบโครงสร้างของการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ ที่เป็นอิสระ รวมถึงให้ความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
  5. เสนอ คัดเลือก และกำหนดโครงสร้างของหน่วยงานตรวจสอบให้มีความเป็นอิสระ และจัดการประชุมโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมปีละครั้งเป็นอย่างน้อย
  6. กำหนด กลยุทธ์ที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงและจัดทำระบบเตือน ภัยของความเสี่ยงทุกประเภทเพื่อจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ภายใต้กฎหมายเกี่ยวข้องที่กำหนด
  7. กำกับ ดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อทบทวนและ พัฒนาระบบความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งวิเคราะห์ประเมินปัจจัยความเสี่ยง และจะมีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินการของบริษัท ทั้งภายนอกและภายใน โดยจัดให้เป็นไปตามแนวร่วมการปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

3. คณะกรรมการจะต้องจัดการให้ข้อมูลของบริษัทฯ สามารถตรวจสอบ และเข้าถึงได้ สำหรับบุคลลที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้น ๆ รวมไปถึงบุคลอิสระภายนอกที่มีความเกี่ยวโยงในการให้คำปรึกษาทางวิชาชีพแก่คณะกรรมการตรวจสอบ

4. คณะกรรมการควรต้องสรรหาบุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นอิสระเพื่อตรวจสอบ และพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยงของบริษัท และควรต้องจัดให้มีการประเมิน พร้อมทั้งรายงานผลต่อคณะกรรม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไว้ในรายงานประจำปี

5. คณะกรรมการควรต้องประเมิน และเสนอความคิดเห็นต่อคุณภาพของระบบการบริหารความเสี่ยง และการจัดการภายในของบริษัท และเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี

หลักปฏิบัติ 6.3

คณะกรรมการบริษัทควรต้องดูแล และบริหารความขัดแย้งของผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ คณะกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ และการทำธุรกรรมอันมิควรจากการใช้ทรัพย์สิน ข้อมูล และโอกาสของบริษัทฯ โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

1. คณะกรรมการควรต้องจัดให้มีระบบ และขั้นตอนการปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และต้องมีการเน้นย้ำ ควบคุม ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียยึดถือ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยจะมีการกำหนดนโยบาย และมาตรการป้องกันรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล เพื่อการรักษาความลับ (Confidentiality) การรักษาความน่าเชื่อถือ (Integrity) และความพร้อมใช้ของข้อมูล (Availability) รวมทั้งการจัดการข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ (Market sensitive information)

2. คณะกรรมการควรจัดให้มีการติดตาม และกำหนดแนวทางการจัดการ รายการที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และควรต้องจัดการ ปรับเปลี่ยนรายการดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการเปิดเผยข้อมูล ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นหลัก โดยที่ผู้มีส่วนได้เสียไม่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และควรงดเว้นต่อการมีส่วนร่วมในการประชุมพิจารณาในวาระนั้น

3. คณะกรรมการควรต้องจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสีย และควรให้มีการรายงานต่อที่ประชุม และจัดให้มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุมคณะกรรมการ

หลักปฏิบัติ 6.4

คณะกรรมการควรต้องดูแล และบริหารให้มีการจัดทำนโยบายและแนวทางการปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่ชัดเจน สื่อสาร และส่งเสริมพนักงานในหน่วยงาน และบุคคลภายนอกให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้

1. คณะกรรมการควรต้องสื่อสารกับคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้อง และเชื่อมโยงกับการควบคุมภายใน เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีการควบคุมภายในที่เหมาะสมต่อการจัดการความเสี่ยง และแผนจัดการความเสี่ยงนั้นได้รับการปฏิบัติจริง ภายในองค์กร

2. คณะกรรมการควรจัดให้มีนโยบายที่ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม และการประเมินผลปฏิบัติงานของพนักงาน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้จริง อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการเผยแพร่นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสถานที่เด่นชัด ทุกคนในบริษัทฯ สามารถเข้าถึงได้ และผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัทเช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เว็บไซต์บริษัท และรายงานประจำปี

3. คณะกรรมการควรจัดให้มีโครงการ และการฝึกอบรมแก่พนักงาน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน เพื่อส่งเสริมและปลูกฝัง ให้พนักงานไม่ละเลยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย ให้มีความตระหนัก เข้าใจ ในการร่วมมือต่อต้านการทุจริต การคอร์รัปชันภายในบริษัท และพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ

หลักปฏิบัติ 6.5

คณะกรรมการควรกำกับให้มีระเบียบ ขั้นตอนการดำเนินการ และกลไกที่เหมาะสมในการรับเรื่องร้องเรียน หรือการชี้เบาะแส โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

1. คณะกรรมการควรจัดให้มีกลไกการแจ้งผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมทั้งจัดให้มีช่องทางที่เข้าถึงง่าย และปลอดภัยสองช่องทางขึ้นไป ในการรับข้อร้องเรียนทั้งจากบุคคลภายนอกและบุคคลภายในบริษัทฯ โดยจัดแจ้งช่องทางดังกล่าวไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ

2. คณะกรรมการจะต้องจัดการให้เกิดความเป็นธรรม คุ้มครอง และรักษาความลับของบุคคลผู้แจ้งเบาะแสการคอร์รัปชัน โดยจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้

3. คณะกรรมการควรต้องระบุบุคคลที่มีหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน และกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และขั้นตอนที่ชัดเจน เหมาะสม และตรวจสอบได้ในกรณีเกิดการชี้แจ้งเบาะเส ทั้งนี้ผู้ได้รับข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียนและเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ ห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่น ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

7. รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูล

หลักปฏิบัติที่ 7.1

คณะกรรมการดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส โดยการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ และเว็บไซต์ของบริษัทฯ โดยมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีข้อมูลตัดสินใจอย่างเพียงพอและเท่าเทียมกันการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ มีดังนี้

  1. แบบแสดงรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report)
  2. นโยบายการกำกับดูแลกิจการและผลการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว
  3. นโยบายเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมและการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว
  4. รายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่กับรายงานของผู้สอบบัญชีในรายงานประจำปี
  5. การเปิดเผยบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย จำนวนครั้งของการประชุมและจำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละท่านเข้าร่วมประชุมในปีที่ผ่านมา
  6. เปิดเผยนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการและผู้บริหารระดับสูง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อทำหน้าที่สื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางต่าง ๆ การประชุมนักวิเคราะห์ การประชุมทางโทรศัพท์ การตอบคำถามทางโทรศัพท์ และ ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ

หลักปฏิบัติ 7.2

คณะกรรมการบริษัทติดตามดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงิน และความสามารถในการชําระหนี้

1. คณะกรรมการควรมีการดูแลให้ฝ่ายจัดการมีการติดตาม เพื่อประเมินฐานะทางการเงินบริษัทฯ และให้มีการรายงานผลต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยหากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าบริษัทจะประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ให้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการร่วมกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และแนวทางในการบริหารจัดการแก้ไขโดยเร็ว

2. ในการอนุมัติการทำรายการใด ๆ หรือการเสนอความเห็นให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติ คณะกรรมการควรจะมีความมั่นใจว่า การทำรายการดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ สภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ

หลักปฏิบัติ 7.3

ในภาวะที่บริษัทฯ ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน คณะกรรมการบริษัทมีแผนหรือกลไกอื่นในการแก้ไขปัญหา โดยคํานึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย

1. คณะกรรมการ ควรต้องติดตาม และดูแลอย่างใกล้ชิดให้กิจการประกอบธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล หากพบสัญญาณบ่งชี้ปัญหาด้านสภาพคล่องซึ่งกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

2. คณะกรรมการบริษัท ควรดูแลประสานให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียเป็นหลัก โดยจัดให้มีการทำรายงานสถานะอย่างสม่ำเสมอ

3. คณะกรรมการ ควรคำนึงถึงเหตุและผลเป็นที่ตั้งในการพิจารณา ตัดสินใจ อันใดที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาทางการเงินของบริษัทฯ

หลักปฏิบัติ 7.4

คณะกรรมการบริษัทพิจารณาจัดทํารายงานความยั่งยืนตามความเหมาะสม

1. คำนึงถึงกรอบการรายงานที่ได้รับการยอมรับในประเทศหรือในระดับสากล ทั้งนี้ บริษัทฯ พิจารณาความเหมาะสมในการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมาย จริยธรรมในการดําเนินธุรกิจและจรรยาบรรณกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน นโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน การปฏิบัติต่อพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชน ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

2. คณะกรรมการ มีหน้าที่ดูแล ให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและสะท้อนการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าแก่บริษัทอย่างยั่งยืน

หลักปฏิบัติ 7.5

คณะกรรมการควรกำกับดูแล ให้มีการแต่งตั้งนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทฯ ในการทำหน้าที่ดูแล สื่อสาร และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทันเวลา อย่างเหมาะสมและเท่าเทียมแก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่น รวมถึง นักลงทุน นักวิเคราะห์

1. คณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเป็นผู้ติดต่อสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลภายนอกในช่องทางที่เหมาะสม

2. คณะกรรมการ ควรกำหนดให้สรรหา และจัดตั้งบุคคลที่เหมาะสม ทั้งทางด้านความรู้เกี่ยวกับองค์กร ความสามารถในการสื่อสาร และความสามารถประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการทำหน้าที่ติดต่อสื่อสาร และให้ข้อมูลแก่บุคคล และหน่วยงานภายนอก

3. คณะกรรมการควรจัดให้มีขอบเขต หน้าที่ที่ชัดเจนของนักลงทุนสัมพันธ์ และกำหนดให้มีทิศทางการสนับสนุนดูแลด้านนักลงทุนสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประสิทธิผลที่ดีต่อบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสีย

หลักปฏิบัติ 7.6

คณะกรรมการควรส่งเสริมให้มีการนําเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและรวดเร็ว

1. คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเว็บไซต์ของบริษัทฯ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เช่น

- วิสัยทัศน์และค่านิยมของบริษัทฯ

- ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ

- รายชื่อคณะกรรมการและผู้บริหาร

- งบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานทั้งฉบับปัจจุบัน และของปีก่อนหน้า

- แบบ 56-1 One Report ที่สามารถให้ดาวน์โหลดได้

- โครงสร้างการถือหุ้น และสิทธิออกเสียง

- หนังสือเชิญประชุมสามัญและวิสามัญผู้ถือหุ้น

- ข้อบังคับบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิ

- นโยบายที่สำคัญ

- ช่องทางการติดต่อหรือร้องเรียน

8. สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น

หลักปฏิบัติ 8.1

คณะกรรมการตระหนักและให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกราย ทั้งนักลงทุนชาวไทย นักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน และจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดหรือริดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น รวมถึงไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการจำกัดโอกาสของผู้ถือหุ้นในการศึกษาสารสนเทศของบริษัทฯ และการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น ได้แก่ การซื้อขายหรือโอนหุ้น การมีส่วนแบ่งในกำไรของกิจการ การได้รับข่าวสาร ข้อมูลของกิจการอย่างเพียงพอ การเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และเรื่องที่มีผลกระทบต่อ บริษัท เช่น การจัดสรรเงินปันผล การกำหนดหรือการแก้ไขข้อบังคับและหนังสือบริคณห์สนธิ การลดทุนหรือเพิ่มทุน และการอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นทุกรายยังได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับบริษัทฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. สิทธิในการรับทราบข้อมูล วัน เวลา สถานที่และวาระการประชุม ตลอดจนข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุมแก่ผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้าอย่างเพียงพอและทันเวลา โดยบริษัทฯ จะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และวิธีการในการเข้าร่วมประชุม การมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุม รวมถึงขั้นตอนลงมติ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ เป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะจัดส่งเอกสาร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าอย่างเพียงพอ

2. สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น แสดงความเห็น ตั้งคำถาม ให้ข้อเสนอแนะ และร่วมพิจารณาตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่าง ๆ โดยประธานในที่ประชุมจัดสรรเวลาให้อย่างเหมาะสมและส่งเสริมให้มีการแสดงความเห็นและตั้งคำถามในที่ประชุม ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถส่งคำถาม รวมทั้งการเสนอวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและคุณสมบัติที่เหมาะสมเพื่อรับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการของบริษัทล่วงหน้าก่อนวันประชุม โดยกรรมการของบริษัททุกคนควรเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตอบคำถามผู้ถือหุ้นในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

หลักปฏิบัติ 8.2

การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

1. คณะกรรมการจัดกระบวนการประชุมผู้ถือหุ้น ในลักษณะที่สนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยบริษัทฯ จะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ภายในเวลาไม่เกิน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของบริษัทฯ และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องเสนอวาระเป็นกรณีพิเศษซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ กฎหมายที่ใช้บังคับที่ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว บริษัทฯ จะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเป็นกรณีไป

บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้น ทั้งนักลงทุนชาวไทย นักลงต่างประเทศ นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ได้มีส่วนร่วมในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยบริษัทฯ จะดำเนินการดังนี้

- ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทให้สิทธิผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันในการได้รับเอกสารพร้อมข้อมูลประกอบการประชุมโดยการจัดทำเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ http://www.sncformer.com เป็นการล่วงหน้าถึง 30 วัน ก่อนจัดส่งเอกสารดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบมากกว่า 21 วันก่อนการประชุม และได้ทำการโฆษณาลงในหนังสือพิมพ์รายวันหรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้กระทำโดยการประกาศผ่านเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้เป็นการทั่วไป และสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของเว็บไซต์ โดยต้องคำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวกและไม่เลือกปฏิบัติ เช่น เว็บไซต์ของบริษัท เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดต่อกันต่อเนื่อง 3 วันก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้าสำหรับการเตรียมตัวก่อนมาเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการเสนอเพิ่มวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นโดยกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นการล่วงหน้าเพื่อพิจารณาว่าจะเพิ่มวาระที่ผู้ถือหุ้นเสนอมา และกำหนดวิธีการให้ผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ โดยให้เสนอชื่อผ่านคณะกรรมการสรรหา พร้อมข้อมูลประกอบการพิจารณาด้านคุณสมบัติและการให้ความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งนี้ ไม่ให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารเพิ่มวาระการประชุมที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะวาระที่สำคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ ทั้งนี้ คณะกรรมการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าประชุมด้วยตนเอง สามารถใช้สิทธิออกเสียงโดยมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมและออกเสียงลงมติแทน โดยจะมีการเสนอชื่อกรรมการอิสระ เป็นทางเลือกในการมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น และใช้หนังสือมอบฉันทะรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนได้ในแต่ละวาระ และในการลงคะแนนเสียงนั้นได้

- วันประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นโดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบเอกสารให้กับผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่จะเข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งจัดให้มีอากรแสตมป์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่มอบ/ได้รับมอบฉันทะ โดยก่อนเริ่มการประชุม เลขาที่ประชุมจะแจ้งรายละเอียดขององค์ประชุม วิธีปฏิบัติในการนับคะแนน และระหว่างดำเนินการประชุมบริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถามแสดงความคิดเห็น โดยบริษัทฯ ได้ตอบคำถามของผู้ถือหุ้นอย่างครบถ้วน ชัดเจน ตรงประเด็นในทุกคำถาม บริษัทฯ ดำเนินการประชุมตามลำดับวาระการประชุมโดยไม่มีการเพิ่มวาระการประชุมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหนังสือนัดประชุม ทั้งนี้ สำหรับวาระการเลือกตั้งกรรมการจะดำเนินการลงมติเป็นรายคน และในการประชุมทุกครั้งจะมีการบันทึกการประชุมอย่างถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งการจัดให้มีการบันทึกภาพการประชุมในลักษณะวีดีทัศน์และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ด้วย

หลักปฏิบัติ 8.3

บริษัทฯ จะจัดส่งรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และเผยแพร่รายงานการประชุมในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ภายใน 14 วันหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น